ในปัจจุบันนั้น แต่เดิมมาเป็นบ้านเก่าแก่มีอายุกว่า 450 ปี ชาวนาอ้อมีเลือดเนื้อเชื้อสายลาว “เผ่าไทลื้อ” อพยพจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในปกครองของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวบ้านนาอ้อเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2236 ชาว บ้านนาอ้อมีนิสัย ขยัน อดทน รักพวกพ้อง และรวมตัวกันด้วยความสามัคคีอย่างแน่นเหนียว ชาวนาอ้อรักครอบครัว และรู้จักหักล้างถางพงเพื่อแข่งขันกันสร้างความเป็นปึกแผ่นในครอบครัว ในขณะที่ชาวนาอ้อได้รวมตัวกันอพยพเข้าสู่แหล่งอุดมสมบูรณ์ ภายในบริเวณโดยรอบหนองวังขอน (หนองน้ำใหญ่ที่มีซุงตายแห้งลอยเป็นแพ) นั้น ผู้นำชุมชนสมัยนั้นได้ลงมติตั้งชื่อบ้านใหม่ขึ้นว่า “บ้านวังขอน” คือบริเวณเหนือบ้านท่าบุ่งและบ้านปากหมาก ในปัจจุบันนี้เอง และได้ขยายครอบครัวหนาแน่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นอกจากชาวบ้านกลุ่มบ้านวังขอนนี้แล้ว ก็ยังมีชาวนาอ้อกลุ่มอื่นอีกที่อพยพเคลื่อนย้ายลงไปทางใต้อยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งได้มีการจับจองที่ทำกินอยู่ที่บ้านปากพาน (บริเวณที่น้ำพานไหลลงสู่แม่น้ำเลย) และที่บ้านขั้นไดใหญ่ ซึ่งมีชื่อต่อมาว่า “บ้านหนองหมากผาง” ในปัจจุบัน
บ้านวังขอนได้กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ และมีผู้คนหนาแน่นขึ้นเป็นลำดับ เมื่อครั้งมีการทำศึกกับชาวฮ่อที่เมืองเชียงขวาง ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านวังขอนได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารช่วยรบ ปล่อยให้คนแก่ ผู้หญิง และเด็กอยู่เฝ้าบ้านกันตามลำพัง ในระยะต่อมา ชาวบ้านวังขอนที่เหลืออยู่ ได้ประสบกับโรคภัยไข้เจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมากด้วยไข้ทรพิษ (โรคฝีดาษ) ซึ่งในขณะนั้นไม่มีทางรักษาเยียวยาได้ มีทางเดียงเท่านั้น คือ อพยพหนีลงมาทางใต้อีกเรื่อย ๆ
บรรดาคนแก่ ผู้หญิง และเด็ก ๆ ที่เหลืออยู่ที่บ้านวังขอนได้ตัดสินใจหอบลูกหลานอพยพหนีจากบ้านวังขอน ติดตามชาววังขอนรุ่นก่อน ๆ ที่อพยพมาแล้ว มาพบทำเลที่เหมาะสม เป็นบริเวณที่ราบโดยรอบหนองน้ำใหญ่ ซึ่งหนองน้ำมีต้นอ้อเกิดขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป และเป็นหนองน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยผักปลา มีน้ำใสสะอาด เหมาะแก่การบริโภคใช้สอย เมื่อหมู่บ้านใหม่ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่รอบ ๆ หนองอ้อ ได้ขยายเพิ่มขึ้น จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งใหม่ว่า “หมู่บ้านนาอ้อ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และเมื่อบรรดาชายฉกรรจ์ที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเสร็จสิ้นศึกก็ได้รีบรุดกลับสู่บ้านวังขอนทันทีแต่ปรากฏว่าบ้านวังขอนเกือบจะกลายเป็นบ้านร้าง จึงได้ติดตามลูกเมียลงมาเรื่อย ๆ จนได้พบกันที่บ้านนาอ้อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีผู้คนหนาแน่นจนกระทั้งมีผู้นำคนสำคัญเกิดขึ้นมากมายและได้ร่วมมือกันสร้างวัดที่มีชื่อว่า “วัดศรีจันทร์” ขึ้นเป็นวัดแรกในหมู่บ้านนาอ้อ แต่ต้องไปนิมนต์เจ้าหัวพ่อเมืองขวา ซึ่งเป็นชาวมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ในสมัยนั้นมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เพราะยังไม่มีพระ เณรที่เป็นชาวนาอ้อจริง ๆ และได้กันที่สาธารณะไว้เป็นป่าช้าประจำหมู่บ้านนาอ้อหลายแห่ง
แต่เดิมนั้นหมู่บ้านนาอ้อ นอกจากจะมีลำน้ำพานไหลผ่านใจกลางบ้านจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งไหลลงสู่แม่น้ำเลยแล้ว โดยรอบหมู่บ้านยังปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบ ป่าไผ่และพงอ้อ พงแขมมืดครึ้มไปหมด ใครที่ขยันขันแข็งมีบุตรชายหลายคนก็ระดมแรงกันทำการโค่นก่อไผ่และพงอ้อ จับจองเป็นที่ทำนาทำให้หมู่บ้านนาอ้อมีพื้นทีเพิ่มมากขึ้น มีการขยายหมู่บ้านเล็ก ๆ ไปทางริมฝังแม่น้ำเลย คือหมู่บ้านท่ามะนาว รวมทั้งบ้านโพน บ้านเหล้าป่าแหน่ง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกได้มีการขยายหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่นเพราะเป็นบริเวณที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ดี ผลไม้ยืนต้น เช่นมะม่วง ส้มโอ มะไฟปลูกได้ง่ายและงอกงามทันใจ จึงได้เรียกว่า “บ้านม่วง” และได้ร่วมกันสร้าง “วัดม่วง” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดศรีชมชื่น” จนกระทั้งปัจจุบัน